กรรมวิธีการผลิตผลิตภัณฑ์ผงปรุงรสลาบ - น้ำตกที่มีส่วนผสมกาบา
ลาบ-น้ำตก เดิมเป็นอาหารท้องถิ่นทางภาคอีสานและภาคเหนือของประเทศไทย แต่ปัจจุบันเป็นที่แพร่หลายไปทั่วรวมทั้งร้านอาหารไทยในต่างประเทศเนื่องจากเป็นอาหารที่มีรสชาติอร่อย (รสเปรี้ยวนำ เค็มตาม หวานเล็กน้อย) และมีกลิ่นหอมของเครื่องปรุงต่างๆ ที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว จึงเป็นอาหารยอดนิยมของคนไทย วิธีการปรุงนำเนื้อมาสับให้ละเอียด (กรณีที่ใช้เนื้อหั่นเป็นชิ้นเล็กๆ เรียกว่าน้ำตก) ลวกให้สุกจากนั้นปรุงรสด้วยน้ำปลา น้ำมะนาว น้ำตาล ข้าวคั่ว พริกป่น ต้นหอมหั่น หอมแดงหั่น และใบสะระแหน่ ซึ่งพร้อมรับประทาน การเรียกชื่อลาบเรียกตามชนิดของเนื้อสัตว์ที่นำมาเป็นส่วนประกอบหลักๆ เช่น ลาบหมู ลาบเป็ด ลาบไก่ เป็นต้น จากวัตถุดิบหลักที่เป็นเนื้อสัตว์จึงอาจมีโอกาสปนเปื้อนด้วยเชื้อก่อโรคของระบบทางเดินอาหารกรณีที่ปรุงไม่ถูกสุขลักษณะส่งผลเสียให้ผู้บริโภคเกิดโรคระบบทางเดินอาหารได้ ด้วยขั้นตอนการทำที่ไม่ยุ่งยากแต่มีส่วนผสมที่หลากหลายทำให้ยุ่งยากในการจัดเตรียมส่วนผสม รวมทั้งปรุงให้อร่อย ส่งผลให้ปัจจุบันมีการผลิตผงปรุงรสลาบ-น้ำตกขึ้นเป็นผลิตภัณฑ์เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ปรุง และมีการจำหน่ายผงปรุงรสลาบ-น้ำตกเป็นการค้าทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งกล่าวได้ว่าปัจจุบันผงปรุงรสลาบ-น้ำตกที่มีจำหน่ายช่วยได้ในเรื่องความสะดวกเท่านั้น โดยผงปรุงรสลาบ-น้ำตกในปัจจุบันนั้นมีเฉพาะส่วนประกอบที่ให้รสชาติเป็นหลักมีประโยชน์ต่อสุขภาพเพียงเล็กน้อย ดังนั้นคณะผู้วิจัยจึงต้องการเพิ่มความเป็นประโยชน์ให้มากขึ้นจากการมีสารกาบา (?-aminobutyric acid: GABA) กรดอะมิโนจำเป็น (essential amino acid) และสารต้านจุลินทรีย์โดยที่สารเหล่านี้ต้องมีความเข้ากันได้กับอาหารประเภทลาบ-น้ำตกจึงไม่ส่งผลเสียต่อรสชาติของอาหาร อีกทั้งต้องการลดปริมาณการใช้กรดซิตริกในส่วนผสมโดยทดแทนด้วยกรดแลกติกที่ได้จากกล้าเชื้อแบคทีเรียผลิตกรดแลกติก (Lactic acid bacteria) Pediococcus pentosaceus HN8 ที่ผลิตกาบาจากผงชูรส (Monosodium glutamate) ซึ่งปกติก็เป็นส่วนผสมของปรุงผงรสลาบ-น้ำตก และเพื่อให้เป็นกรรมวิธีการผลิตกาบาต้นทุนต่ำ ใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติจึงเลือกใช้น้ำมะพร้าวแก่ซึ่งเป็นวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรมาเป็นอาหารเลี้ยงเชื้อเพื่อผลิตกาบา ได้ผลิตภัณฑ์ผงปรุงรสลาบ-น้ำตกที่มีความเป็นประโยชน์มากขึ้นที่สามารถนำไปสู่การผลิตได้ทั้งในระดับชุมชนและอุตสาหกรรมด้วยต้นทุนที่ต่ำ มีความปลอดภัย ดีต่อสุขภาพมากขึ้นและมีอายุการเก็บรักษาได้นาน ให้รสชาติที่อร่อยเมื่อปรุงไม่ต่างจากผลิตภัณฑ์ที่มีจำหน่ายในท้องตลาด
กรรมวิธีการผลิตผลิตภัณฑ์ผงปรุงรสลาบ-น้ำตกที่มีส่วนผสมกาบา ตามการประดิษฐ์นี้ได้พัฒนากรรมวิธีในการผลิตกาบาต้นทุนต่ำโดยเลือกใช้น้ำมะพร้าวแก่ และผงชูรส มาเป็นวัตถุดิบหลักในการเลี้ยงกล้าเชื้อ Pediococcus pentosaceus HN8 เพื่อผลิตกาบา
กลุ่มอุตสาหกรรม
อาหาร
ประเภททรัพย์สินทางปัญญา
อนุสิทธิบัตร
เลขที่คำขอ
1503000580
วันที่ยื่นคำขอ
-
เลขทะเบียน
-
ผู้ทรงสิทธิ
-
แหล่งทุน
-
ผู้ประดิษฐ์ และหน่วยงานต้นสังกัด
รศ.ดร.ดวงพร คันธโชติ และคณะ
คณะวิทยาศาสตร์ ม.อ.
จุดเด่นนวัตกรรม
|
1. ได้ผลิตภัณฑ์ธรรมชาติผงปรุงรสลาบ-น้ำตกที่มีส่วนผสมกาบาและสารอื่นๆที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพและมีความปลอดภัยในการทำลาบ-น้ำตกที่มีความอร่อย 2. เพิ่มมูลค่าให้กับน้ำมะพร้าวแก่เป็นอาหารในการผลิตกาบาที่สามารถใช้เป็นส่วนผสมเพื่อเพิ่มความเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคในการทำผลิตภัณฑ์ชูรสอาหารประเภทเนื้อในรูปผง และรูปซอสได้ นอกจากนี้ยังเป็นการลดปัญหาสิ่งแวดล้อมอีกด้วย |
|
คีย์เวิร์ด
กาบา ผงปรุงรส ลาบ น้ำตก
วันที่ปรับปรุงข้อมูล : 11/35/2560