กรรมวิธีการผลิตต้นอ่อนข้าวชนิดผงเสริมแร่ธาตุซีลีเนียม
ต้นอ่อนข้าวสาลี (Triticum aestivum L.) หรือวีท กราส เป็นพืชที่ได้รับความนิยมในการบริโภคในระยะต้นอ่อนมากที่สุดชนิดหนึ่ง โดยมีต้นกำเนิดมาจากประเทศในแถบตะวันตกและแพร่กระจายไปทั่วโลก จากหลักฐานงานวิจัย พบว่า ต้นอ่อนข้าวสาลีมีปริมาณคลอโรฟีลด์สูง ประกอบด้วยกรดอะมิโน แร่ธาตุ วิตามิน เอนไซม์และสารพฤกษเคมีหลากหลายชนิด เช่น ฟลาโวนอยด์ แทนนิน อัลคาลอยด์ ซึ่งสารเหล่านี้มีฤทธิ์ทางชีวภาพ ที่มีส่วนช่วยสร้างเม็ดเลือดแดงในผู้ป่วยโลหิตจาง (Marawaha et al., 2004) ใช้ต้านมะเร็ง (Lakshmi et al., 2014) ต้านการอักเสบ (Ben-Arye et al., 2002) และยังช่วยกำจัดสารพิษจากตับอีกด้วย (Jain et al., 2007) แต่ข้าวสาลีนั้นมีข้อจำกัดในการปลูกเนื่องจากสามารถปลูกได้ในบริเวณที่มีอากาศเย็นเช่นแถบ ยุโรปหรือสหรัฐอเมริกา การปลูกต้นอ่อนข้าวสาลีในประเทศไทย จึงจำเป็นต้องนำเข้าเมล็ดพันธุ์จากต่างประเทศ ซึ่งมีราคาค่อนข้างสูงและการผลิตต้นอ่อนข้าวสาลียังมีโอกาสปนเปื้อนโปรตีนกลูเตนที่ก่อให้เกิดอาหารแพ้ จากกระบวนการผลิตอีกด้วย
สำหรับข้าว (Oryza sativa L.) ที่นิยมปลูกในประเทศไทย จัดเป็นแหล่งพลังงานสำคัญของประชากรมากกว่าครึ่งของประชากรโลก โดยเฉพาะชาวเอเชียที่นิยมบริโภคข้าวเป็นอาหารหลัก แม้ว่าข้าวเป็นอาหารหลักของไทยมาช้านาน แต่คนไทยไม่นิยมบริโภคต้นอ่อนข้าวเหมือนการบริโภคต้นอ่อนข้าวสาลีหรือต้นอ่อนข้าวบาร์เลย์ในแถบประเทศเขตหนาวแม้เป็นพืชที่อยู่ในตระกูลเดียวกัน(Poaceae)
ข้าวเป็นผลิตภัณฑ์หลักของเกษตรกรไทยมาช้านานดังนั้นประเทศไทยจึงมีทรัพยากรข้าวมากมายและหลากหลายพันธุ์ ซึ่งเป็นวัตถุดิบที่ราคาถูกกว่าข้าวสาลีมาก ปัจจุบันมีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ระบุว่าในต้นอ่อนของข้าวพบสารประกอบจำพวกฟีนอลิคเป็นจำนวนมาก (Khumkha, 2009; Ruttanapon et al., 2015) ซึ่งสารเหล่านี้มีความสามารถในการออกฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ และยังเป็นแหล่งของแร่ธาตุและกรดอะมิโนที่จำเป็นต่อร่างกายหลายชนิด ดังนั้นการนำต้นอ่อนข้าวมาใช้เพื่อการบริโภคจึงมีความน่าสนใจเป็นอย่างมาก
การเสริมแร่ธาตุลงไปในพืชขณะปลูกก็เป็นการผลิตอาหารฟังก์ชันนอลฟู้ดชนิดหนึ่ง ที่สามารถเพิ่มปริมาณของแร่ธาตุหรือวิตามินในพืชโดยใช้ทุนต่ำ แต่สามารถเสริมปริมาณของแร่ธาตุลงไปในอาหารในรูปของสารอินทรีย์ซึ่งเชื่อว่ามีความปลอดภัยมากกว่าอาหารเสริมและยังสามารถกระตุ้นการผลิตสารพฤกเคมีบางชนิดที่เพิ่มมากขึ้น จึงเป็นการเพิ่มคุณค่าทางโภชนาการและคุณสมบัติทางชีวภาพให้แก่พืชได้
แร่ธาตุซีลีเนียมเป็นแร่ธาตุที่จำเป็นต่อร่างกายของมนุษย์มีหน้าที่ในการต้านอนุมูลอิสระที่มีประสิทธิภาพที่สุด (McDowell et al., 2007) เนื่องจากซีลีเนียมจะเข้าไปจับกับกรดอะมิโนในร่างกายมนุษย์เป็นซีลีโนโปรตีน ซึ่งเป็นเอนไซม์องค์ประกอบสำคัญของเอนไซม์กลูต้าไธโอนเปอร์ออกซิเดสซึ่งเป็นเอนไซม์ต้านอนุมูลอิสระในร่างกาย ซีลีเนียมจึงมีหน้าที่หลักในการช่วยป้องกันการเกิดปฎิกริยาออกซิเดชั่นในร่างกายและมีประโยชน์ในการต่อต้านเซลล์มะเร็ง ต้านโรคหลอดเลือดหัวใจ เสริมความแข็งแรงในระบบภูมิคุ้มกัน เสริมสร้างการทำงานของต่อมไทรอยด์และส่งเสริมการเจริญของจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ในลำไส้อีกด้วย
การผลิตต้นอ่อนข้าวชนิดผงเสริมแร่ธาตุซีลีเนียมขณะปลูก
โดยเริ่มจากการนําเมล็ดข้าวเปลือกมาเพาะในสารละลายซีลีเนียมที่ความเข้มข้นที่เหมาะสมแล้วปลูกเป็นระยะเวลา
7-10
วัน จากนําต้นอ่อนข้าวมาผ่านกระบวนการทําแห้ง
ทําให้เป็นผงและบรรจุใส่ภาชนะเพื่อผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ต้นอ่อนข้าวชนิดผงเสริมแร่ธาตุซีลีเนียม
กลุ่มอุตสาหกรรม
การแปรรูปเกษตร/เกษตรกรรม/ประมง
ประเภททรัพย์สินทางปัญญา
อนุสิทธิบัตร
เลขที่คำขอ
1603000793
วันที่ยื่นคำขอ
04/05/2559
เลขทะเบียน
13106
ผู้ทรงสิทธิ
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
แหล่งทุน
-
ผู้ประดิษฐ์ และหน่วยงานต้นสังกัด
1. นายภาณุพงศ์ พุทธรักษ์ คณะเภสัชศาสตร์
2. นางสุนิสา ศิริพงศ์วุฒิกร คณะบัณฑิตวิทยาลัยสหวิทยาการฯ
3. นางสาวรัตนามณี ชมชาญ คณะบัณฑิตวิทยาลัยสหวิทยาการฯ.
จุดเด่นนวัตกรรม
1.วัตถุดิบคือข้าวที่เป็นทรัพยากรหลักมีอยู่ภายในประเทศ
2.มีธาตุซีลีเนียมซึ่งเป็นแร่ธาตุที่จำเป็นต่อร่างกาย
3.ปลอดภัยและร่างกายสามารถนำไปใช้ได้ดีกว่าการรับประทานในรูปของสารประกอบอนินทรีย์
คีย์เวิร์ด
-
วันที่ปรับปรุงข้อมูล : 28/33/2560